ปกติแล้วเวลาผู้ใช้งานอย่างเราจะไปซื้อ Router บ้านหรืออุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wi-Fi สักตัวหนึ่งหลายคนอาจจะไปยืนงงหน้าร้านว่าควรใช้อุปกรณ์ที่รองรับ 802.11 b/a/g/ac อันไหนมาก่อนมาหลังแบบไหนใหม่กว่า อุปกรณ์ที่จะใช้รองรับอันไหนกันแน่ ตอนนี้ Wi-Fi Alliance (องค์กรกลางที่ออกการรับรองอุปกรณ์ Wi-Fi) จึงได้แก้ปัญหาด้วยการประกาศชื่อใหม่ให้จำง่ายๆ ลดการสับสนเป็น Wi-Fi 6 แทน 802.11ax ที่จะออกมาใช้ปี 2019, Wi-Fi 5 แทน 802.11ac ที่ออกมาในปี 2014 และ Wi-Fi 4 แทน 802.11n ออกในปี 2009
โดย Wi-Fi 1 อ้างถึง 802.11b (ออกปี 1999), Wi-Fi 2 อ้างถึง 802.11a (ออกปี 1999) และ Wi-Fi 3 อ้างถึง 802.11g (ออกปี 2003) นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ผู้ผลิตอุปกรณ์และ OS เปลี่ยน UI ของการเชื่อมต่อ Wi-Fi ให้ผู้ใช้งานทราบถึงการเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้น สามารถดูรูปได้ตามด้านบน อย่างไรก็ตาม Wi-Fi Alliance ไม่มีอำนาจที่จะบังคับผู้ผลิตเปลี่ยนการเรียกแต่อย่างใดดังนั้นผู้ผลิตอาจจะไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ แต่ต่อไปเมื่อเราไปซื้ออุปกรณ์เราก็อาจจะสังเกตข้างกล่องว่ามี ‘Wi-Fi 6 Certified’ ซึ่งก่อนหน้านี้ในกล่องอุปกรณ์จะเขียนแค่ ‘Wi-Fi Certified’ ที่ไม่ได้ให้รายละเอียดผู้ซื้อมากนัก
ข้อดีของ Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax
- ถ้ามีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพียงตัวเดียวกับเราเตอร์ความเร็วสูงสุดที่อุปกรณ์จะทำได้มากกว่า Wi-Fi 5 อยู่ราว 40% สาเหตุเพราะประสิทธิภาพในการ Encoding ข้อมูล เพราะสามารถอัดข้อมูลเข้าไปได้มากกว่าที่ย่านความถี่เดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความถี่ 2.4 GHz หรือ 5 GHz ตัว Wi-Fi 6 ก็มีประสิทธิภาพดีกว่า
- ประหยัดแบตอุปกรณ์ด้วยฟีเจอร์ Target Wake Time คือความสามารถที่ทำให้ Access Point (AP) สามารถคุยกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ว่าให้หยุดพักการส่งหรือรับข้อมูลไว้ก่อน พูดง่ายๆ มันคือ Sleep mode นั่นเอง ตรงนี้เองจึงสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ IoT อีกด้วย
- มีค่าเฉลี่ยของแต่ละอุปกรณ์สูงขึ้นกว่าเดิมในการใช้งานที่มีคนเยอะๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในที่สาธารณะหรือในบ้านที่มีหลายอุปกรณ์ก็ทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เทคนิคแก้ปัญหาสัญญาณชนกันของ Wi-Fi 6
- ใช้ Orthogonal Frequency Division Multiple Access (OFDMA) เพื่อแบ่งช่องสัญญาณเป็นช่องย่อยๆ จำนวนมากเพื่อนำส่งข้อมูลกับอุปกรณ์ที่ต่างกัน ดังนั้น AP จะสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นในคราวเดียว
- Wi-Fi 5 ได้มีการใช้งานเสากระจายสัญญาณหลายเสาที่เรียกเทคนิคนี้ว่า MIMO เพื่อช่วยให้ AP สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ได้หลายตัวในคราวเดียวแต่อย่างไรก็ตามตัวอุปกรณ์ปลายทางไม่สามารถตอบสนองกลับมาได้พร้อมกัน Wi-Fi 6 จึงพัฒนาเทคนิค MU-MIMO เพื่อให้อุปกรณ์ตอบกลับมาได้พร้อมกันด้วย
- AP ที่อยู่ใกล้และใช้ช่องสัญญาณเดียวกันทำให้รบกวนกันเองได้ ดังนั้นมาตรฐานใหม่จึงแก้ปัญหาโดยให้มีค่า Color ของ Basic Service Set (BSS) ให้แตกต่างกันได้ระหว่าง 0-7 ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างรอช่องสัญญาณว่างอุปกรณ์อาจตรวจพบว่าช่องสัญาณที่มีค่า Color ต่างกันมีระดับสัญญาณต่ำ อุปกรณ์จะสามารถส่งข้อมูลออกไปได้โดยไม่ต้องรอซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีการใช้งานทับซ้อนกันได้ หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า “Spatial Frequency re-use”
อีกข้อหนึ่งที่ต้องรู้คือให้พึงระวังอุปกรณ์ที่ตอนนี้โฆษณาตัวเองว่ารองมาตรฐาน 802.11ax เพราะจริงๆ แล้วมาตรฐานยังไม่เสร็จสมบูรณ์และคาดว่าจะออกเป็นมาตรฐานให้ใช้จริงในปี 2019 และสุดท้ายการใช้งานให้ได้เต็มประสิทธิภาพคืออุปกรณ์ในการรับส่งต้องสามารถรองรับการใช้งาน Wi-Fi 6 ได้ทั้งคู่ เช่น AP และ มือถือ ไม่ใช่แค่ AP รับได้แต่มือถือที่ใช่ไม่รองรับก็จะใช้ได้แค่ Wi-Fi 5 เท่านั้น ผู้สนใจเชิงลึกเรื่องสเป็คของ 802.11 ax สามารถติดตามในที่ข่าวเก่าจาก TechTalkThai ที่ 1,2ที่มา : https://www.howtogeek.com/368332/wi-fi-6-what%E2%80%99s-different-and-why-it-matters/ และ https://betanews.com/2018/10/03/wi-fi/