เทคนิคการซื้อของออนไลน์ให้ปลอดภัย ไม่ถูกโกง
ในปัจจุบันธุรกิจออนไลน์กลายเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยการมาถึงของ E-Commerce ที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำธุรกิจออนไลน์สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น บวกกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่จำกัดการเดินทางส่งผลให้ผู้คนต้องหันมาซื้อของและบริการในช่องทางออนไลน์มากขึ้นเป็นเท่าตัว
แล้วการซื้อของออนไลน์มีความเสี่ยงไหม สำหรับประเทศไทย กับคำว่าการซื้อของและบริการออนไลน์นั้นถือว่าไม่ใช่คำใหม่อะไร เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เราก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ E-Commerce เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นจึงทำให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการมีมาตรฐานและมีศักยภาพในการให้บริการลูกค้าประกอบกับการมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค จึงทำให้ลดความเสี่ยงในการถูกโกงผ่านการซื้อของออนไลน์ได้มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่ถูกโกงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อของและบริการออนไลน์อยู่ไม่น้อย ซึ่งนอกจากกฎหมายแล้วตัวของผู้ซื้อก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะมาดูวิธีการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ให้ปลอดภัย ไม่ถูกโกง ว่ามีอะไรบ้าง
- เลือกซื้อกับร้านค้าที่มีที่อยู่และข้อมูลผู้ขายที่ชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อของและบริการออนไลน์คือความน่าเชื่อถือของร้าน ซึ่งหากร้านใดที่ไม่มีที่อยู่ของร้านที่ชัดเจน หรือไม่สามารถระบุตัวตนและติดผู้ขายได้ ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นการหลอกลวง
- ดูประวัติการซื้อหรือคะแนนจากผู้ซื้อ
ประวัติการซื้อสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาพิจารณาว่าร้านค้าดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงหรือเอารัดเอาเปรียบลูกค้าหรือไม่ ซึ่งหากมีลูกค้าเข้ามาแสดงความคิดเห็นในด้านลบ ก็อาจต้องดูข้อมูลสินค้าให้ชัดเจนมากขึ้น หรืออาจหาร้านอื่นมาเปรียบเทียบข้อมูล
- ขอดูรูปถ่ายจริง
การขอดูภาพเพิ่มเติมเป็นสิทธิ์ของลูกค้า ซึ่งหากผู้ขายไม่ยินยอมให้ดูรูปภาพเพิ่มเติม หรือไม่ให้ดูรายละเอียดเชิงลึก อาจสันนิษฐานได้ว่าสินค้าอาจมีตำหนิ หรือไม่ตรงกับข้อมูลที่แสดงบนหน้าเว็บ
- วิธีการส่งและวันที่จะได้รับของ
นอกจากข้อมูลของสินค้าแล้ว การจัดส่งก็เป็นส่วนสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งบางครั้งการจัดส่งไม่ได้มาตรฐานจะทำให้สินค้าของเราชำรุดหรือสูญหายได้
- ขอหลักฐานการส่งสินค้า
เมื่อเราชำระเงินเรียบร้อยแล้วควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าผู้ขายได้จัดส่งสินค้าให้เราจริงๆ
- บันทึกการสนทนาการซื้อขายไว้เป็นหลักฐานหากเกิดปัญหา
การบันทึกข้อมูลการสนทนาสามารถใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดกับร้านค้าที่หลอกลวงหรือเอาเปรียบเราได้ ซึ่งสำคัญมากในการติดตามตัวผู้ขายมารับโทษ หรือคืนเงินค่าสินค้า
- บันทึกภาพเพจร้าน ภาพหน้าร้านออนไลน์ หรือภาพการโพสขายสินค้า
นอกจากการบันทึกการสนทนาแล้ว การบันทึกภาพเพจร้าน ภาพหน้าร้านออนไลน์ หรือภาพการโพสขายสินค้าก็สามารถใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกับเจ้าของร้านได้ ซึ่งบางครั้งหลังการกระทำความผิดเจ้าของร้านอาจลบข้อมูล ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการเอาผิดกับผู้ขาย
- แจ้งความกับตำรวจหากถูกฉ้อโกงหรือเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย
ในขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเอาผิดกับผู้ขายที่หลอกลวง โดยใช้หลักฐานที่กล่าวมาในข้างต้นประกอบเป็นคำร้องในการแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำความผิด
จะเห็นว่านอกจากประโยชน์ของการซื้อขายออนไลน์นั้นมีหลากหลายและตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีผู้ที่พยายามเอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวงผู้ซื้ออยู่ไม่น้อย ดังนั้นนอกจากวิธีการป้องกันที่กล่าวไปแล้วนั้น ผู้ซื้อควรสังเกตและพิจารณาด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง ก็จะทำให้การซื้อสินค้าปลอดภัยไปอีกขั้นหนึ่ง
อ้างอิง
www.thaihealth.or.th สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ