ในปัจจุบันเทคโนโลยีโลจิสติกส์กลายมาเป็นหัวใจหลักของธุรกิจยุคใหม่ เนื่องจากเป็นการรวมเอาเทคโนโลยีการขนส่ง การจัดการสินค้า และการจัดการอื่นๆด้วยระบบคอมพิวเตอร์จนครบวงจร และอีกสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เทคโนโลยีโลจิสติกส์มาเป็นหัวใจกลักในการทำธุรกิจนั่นก็คือ “ตลาดออนไลน์” ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าที่สูงมากในปัจจุบัน
แอพพลิเคชั่นนำทางเป็นหนึ่งในโครงสร้างของโลจิสติกส์ ที่บรรจุอยู่ในกิจกรรมการขนส่ง โดยในแต่ละองค์กรได้นำเอาแอพพลิเคชั่นเหล่านี้เข้ามาช่วยในกระบวนการขนส่งของตนเอง เพื่อให้สินค้าส่งถึงลูกค้าได้ตามเวลาที่กำหนด แอพพลิเคชั่นนำทางที่นิยมในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายโปรแกรม ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันว่าแอพพลิเคชั่นแต่ละตัวมีความสามารถอย่างไรกันบ้าง
Google Map
ภาพจาก google maps
Google Map เป็นแอพพลิเคชั่นนำทางติดตั้งในสมาร์ทโฟนบุคคลทั่วไปหรือบนบราวเซอร์ในคอมพิวเตอร์ จึงมีจุดเด่นในส่วนของปริมาณผู้ใช้ที่มีจำนวนมาก มีการอัพเดทแผนที่อยู่ตลอดเวลา และยังเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆเข้ามาเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน โดยหากมองในแง่ของธุรกิจแล้ว Google Map จะเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มตัวตนในแผนที่ และเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้า ทำให้กลุ่มเป้าหมายมองเห็นธุรกิจขององค์กรในแผนที่ของตนเอง ซึ่งหากมองในกระบวนการโลจิสติกส์แล้ว แอพพลิเคชัน Google Map จะอยู่ในกิจกรรมงานบริการลูกค้าโดยตรง
here we go
ภาพจาก here.com
here we go เป็นแอพพลิเคชั่นนำทางที่ปรับเปลี่ยนมาจาก here map ของ Nokia โดย here we go เป็นโซลูชั่นหนึ่งของ here.com ซึ่งโซลูชัน here we go นี้จะเน้นการให้บริการแผนที่ในส่วนบุคคล ประกอบกับมีจุดเด่นในการใช้งานแบบออฟไลน์มาแต่เดิม โดยในปัจจุบัน here we go มีให้บริการทั้งในบราวเซอร์ และบนสมาร์ทโฟน สำหรับในแง่มุมของธุรกิจนั้น here we go จะมีลักษณะคล้ายกับ Google Map แต่หากองค์กรต้องการโซลูชั่นอื่นๆเกี่ยวกับแผนที่และการนำทางโดยเฉพาะนั้น here.com ก็จะมีโซลูชั่นอื่นๆสำหรับองค์กรโดยเฉพาะให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแผนที่ของตนเอง หรือการเพิ่มจุดสำคัญลงบนแผนที่ และอื่นๆ ซึ่งเป็นบริการหลักของ here.com
Sygic
ภาพจาก sygic.com
Sygic เป็นแอพพลิเคชั่นนำทางที่มีจุดเด่นในการใช้งานสำหรับนำทางบนท้องถนนที่แม่นยำ เนื่องจาก Sygic มีฟังก์ชันการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อการขับขี่โดยเฉพาะ สำหรับการใช้งานในธุรกิจนั้น Sygic จะเหมาะสำหรับงานวางแผนการขนส่งในโลจิสติกส์ ทำให้เหมาะกับธุรกิจที่ต้องส่งของให้กับลูกค้า ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจอื่นๆที่เป็นปลายทางของโลจิสติก
Google Earth
ภาพจาก google earth
Google Earth แอพพลิเคชั่นแผนที่ที่มีรายละเอียดสูงและฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย โดย Google Earth นั้นอาจไม่ใช่แอพพลิเคชั่นนำทางโดยตรง แต่จะอยู่ในส่วนงานการวางแผนเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารโรงงาน คลังสินค้า การพยากรณ์และการวางแผนอุปสงค์ ของกระบวนการโลจิสติกส์ เนื่องจากความสามารถของแผนที่สามมิติ และยังเพิ่มออปเจคเข้าไปในแผนที่ได้
GIS
ภาพจาก คู่มือการใช้งานเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
GIS ชุดแอพพลิเคชั่นแผนที่และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่พัฒนาออกมาเพื่อให้องค์กรได้ใช้งานฟรี สามารถเข้าไปดึงข้อมูลมาประมวลผลได้ จึงเหมาะกับองค์กรที่มีบุคลากรในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับในกระบวนการโลจิสติกส์นั้น GIS จะอยู่ในงานระดับเดียวกับ Google Earth ในส่วนงานการวางแผนเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของอาคารโรงงาน คลังสินค้า ที่จะมีการใช้ข้อมูลมาออกแบบตำแหน่งของการผลิตได้
จากแอพพลิเคชันแผนที่และนำทางที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าแต่ละโปรแกรมจะมีหน้าที่และความสามารถที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะอยู่ต้นกระบวนการ หรือท้ายกระบวนการ ต่างก็มีความสำคัญกับองค์กร ซึ่งจะช่วยเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่ธุรกิจยุคใหม่ ที่มีความรวดเร็ว ถูกต้อง และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม