ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เสี่ยงกับอะไรบ้าง Leave a comment

  ปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน หรือ ซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ในปัจจุบันยังเป็นปัญหาหลักในธุรกิจซอฟต์แวร์ เนื่องจากปัญหานี้ทำให้ผู้ผลิตต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมากจากการใช้และแจกจ่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากดูสถิติการใช้ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะพบว่ามีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศ และประเทศไทยเองสถิติการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ภาพสถิติการใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ จาก www.billionway.co

 

  จากปริมาณการใช้ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ลดลงนั้นส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงของการใช้งานที่ผู้ใช้ต้องเจอ ทำให้กลุ่มผู้ใช้เหล่านี้เปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น แล้วความเสี่ยงที่มากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีอะไรบ้างที่ทำให้ผู้ใช้เริ่มเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น   ก่อนอื่นเรามาดูประเภทของ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ ซอฟต์แวร์เถื่อน ว่ามีอะไรบ้าง

  • ซอฟต์แวร์ที่ถูกดัดแปลงชุดคำสั่งให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนหรือซื้อ Serial Number กล่าวคือ โปรแกรมที่ผ่านการ Crack มาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอันตรายมากเพราะไม่รู้ว่าผู้ Crack ได้ใส่อะไรในโปรแกรมมาบ้าง
  • ซอฟต์แวร์ที่นำมาแก้ไขชุดคำสั่งให้ไม่ต้องลงทะเบียน หรือซื้อ Serial Number โปรแกรมสำหรับ Crack ซอฟต์แวร์ให้ใช้งานได้เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงไม่แพ้แบบแรก เพราะต้องปิดการทำงานของโปรแกรมสแกนไวรัสในเครื่องก่อนที่จะเปิดใช้งานในเครื่องของเรา ทำให้เสี่ยงต่อการติดไวรัสและ malware สูง
  • Patch Crack สำหรับ Crack ให้โปรแกรมใช้ได้ คือส่วนหนึ่งของชุดคำสั่งที่ผู้ใช้ไปหาโหลดมาแล้วนำมาแทนที่ชุดคำสั่งดั้งเดิมของโปรแกรม ซึ่งขั้นตอนการใช้นั้น ผู้ใช้ต้องติดตั้งโปรแกรมในเวอร์ชั่นทดลองใช้ก่อน แล้วไปหาไฟล์ Patch Crack มาแทนที่ไฟล์เดิม และต้องปิดโปรแกรมแสกนไวรัสก่อนที่จะนำไฟล์ไปใส่ในโปรแกรม
  • Serial Number เถื่อน ซึ่งก็คือ Serial Number ที่ได้มาโดยทางที่ไม่ถูกต้อง นำมา Activate ให้โปรแกรมใช้งานได้ ซึ้งประเภทนี้อาจเสี่ยงน้อยกว่า แต่มักโดนโปรแกรมตรวจจับได้ว่าเป็น Serial Number ปลอม ทำให้ผู้ใช้ต้องไปหา Serial Number ชุดใหม่มาแทน

  แล้วความเสี่ยงที่ผู้ใช้ต้องเจอเมื่อคิดจะใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มีอะไรบ้าง มาดูกันครับ

  • ความเสี่ยงจากแหล่งแจกจ่าย ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ผู้ใช้ต้องเสี่ยงจากการเข้าเว็บอันตรายเหล่านี้ เพื่อเข้าไปโหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้งาน โดยเว็บเหล่านี้มักมี malware , Adware หรือไวรัสคอยหาช่องโหว่เข้ามาในเครื่องของผู้ใช้

  • ความเสี่ยงจากการถูกฝัง malware หรือไวรัสมาในซอฟต์แวร์

เมื่อผู้ใช้ดาวโหลดซอฟต์แวร์เหล่านี้มาติดตั้งในเครื่องแล้ว มักจะพบว่าถูกแอบติดตั้ง malware หรือไวรัสไปด้วย ซึ่งทำให้เครื่องเราถูกดักจับข้อมูลที่สำคัญ และยังทำงานช้าลงเพราะมีโฆษณา หรือการแอบขุด Bitcoin อยู่เบื้องหลัง แต่หากไวรัสที่มาในซอฟต์แวร์แล้วไปฝังตัวในไฟล์ระบบ ก็จะทำให้ Windows เกิดข้อผิดพลาดได้

  • ความเสี่ยงจาก Ransomware

ความเสี่ยงที่เลวร้ายที่สุดคือการติด Ransomware หรือโปรแกรมเรียกค่าไถ่ ซึ่งหากไฟล์ของเราถูกล๊อกเข้ารหัสแล้ว เป็นไปได้ยากมากที่จะถอดการเข้ารหัสไฟล์ออกมาได้ และหากอยากได้คีย์ปลดล๊อก ผู้ใช้ต้องเสียค่าไถ่มหาศาลกับราคาของคีย์ดังกล่าวครับ

  • ความเสี่ยงจากการผิดกฎหมาย

ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ โดยกำหนดว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ในกรณีที่บุคคลใด ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนาของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บุคคลนั้นจะมีความผิดฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท             และหากเป็นการกระทำเพื่อการค้า จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   จากข้อมูลที่กล่าวมานั้นจะเห็นว่าการใช้ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นั้นมีผลเสียหลายๆอย่าง จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ใช้ส่วนหนึ่งเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตปรับลดราคาหรือเปลี่ยนจากการขายขาดมาเป็นการเก็บค่าบริการรายเดือน เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในการซื้อโปรแกรมมาใช้งานครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *